top of page

เวียดนามเริ่มปลูกกาแฟอาราบิกาสายพันธุ์ใหม่ มีคุณสมบัติทนต่อสภาพอากาศและให้ผลผลิตดีกว่าสายพันธุ์เดิม

Updated: Nov 5, 2021

Arabica F1 hybrids อนาคตของกาแฟสายพันธุ์อาราบิกาในประเทศเวียดนาม 👨‍🔬



ในปี 2020 ที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามมีปริมาณการส่งออกกาแฟอยู่ที่ 26.4 ล้านกระสอบ (ประมาณ 1.5 ล้านตัน) จากการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture : USDA) ในปี 2021-2022 แนวโน้มการส่งออกกาแฟของเวียดนามอาจจะเพิ่มสูงถึง 30 ล้านกระสอบหรือประมาณ 1.8 ล้านตัน


กาแฟโรบัสตาจากเวียดนามมักจะถูกมองว่าเป็นกาแฟคุณภาพต่ำที่นิยมนำไปผลิตกาแฟผงสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเยอรมันและยุโรปเป็นตลาดหลัก และสำหรับกาแฟอาราบิกาก็มีชะตาไม่ต่างกัน

แม้ปัจจุบันเวียดนามจะเป็นผู้ผลิตกาแฟโรบัสตารายใหญ่ที่สุด และเป็นประเทศที่มีการส่งออกเมล็ดกาแฟเป็นอันดับสองรองจากบราซิล แต่กาแฟโรบัสตาจากเวียดนามมักจะถูกมองว่าเป็นกาแฟคุณภาพต่ำที่นิยมนำไปผลิตกาแฟผงสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเยอรมันและยุโรปเป็นตลาดหลัก และสำหรับกาแฟอาราบิกาก็มีชะตาไม่ต่างกัน คือเป็นกาแฟที่ขายได้ราคาต่ำกว่าคู่แข่งเนื่องจากมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ



เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟประมาณ 700,000 เฮคเตอร์ ในจำนวนนี้ 65,000 เฮคเตอร์ ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสตา ที่เหลือเป็นกาแฟอาราบิกาซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกหลักอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ กว่า 95% ของอาราบิกาที่ปลูกคือสายพันธุ์คาติมอร์ (CatiMor) ที่มีลักษณะเด่นคือให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรคราสนิมได้ดี แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอาราบิกาของเวียดนามกำลังเผชิญกับวิกฤติใหญ่ คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่ส่งผลกระทบกับผลผลิตของอาราบิกาอย่างรุนแรง เช่น ปรากฎการณ์น้ำค้างแข็งที่จังหวัดเซินลา (Son La) เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ทำให้ไร่กาแฟเสียหายไปกว่า 3,000 เฮกตอร์ นอกจากนี้สายพันธุ์คาร์ติมอร์ของเวียดนามยังขาดความหลากหลายและมีฟีโนไทป์ หรือลักษณะเด่นทางสายพันธุ์ที่ไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้กาแฟอาราบิกาของเวียดนามมีคุณภาพที่ต่ำ และไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในหลายประเทศ



สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งเวียดนาม (VAAS) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานนานาชาติสองหน่วยงานคือ ศูนย์วิจัยการเกษตรแห่งฝรั่งเศสเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Cirad - La recherche agronomique pour le développement) และองค์กรส่งเสริมการปรับปรุงสายพันธุ์กาแฟในระบบวนเกษตรแห่งสหภาพยุโรป (Breeding Coffee for Agroforestry Systems : BREEDCAFS) จัดตั้งโครงการ BREEDCAFS ขึ้นที่เวียดนามมาตั้งแต่ปี 2017 โดยมีวัตถุประสงค์ในการหากาแฟอาราบิกาสายพันธุ์ใหม่เพื่อนำมาปลูกทดแทนสายพันธุ์เดิมอย่างคาร์ติมอร์ คำตอบก็คือกาแฟสายพันธุ์ไฮบริด F1 (arabica F1 hybrids)



Arabica F1 hybrids เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่าง Starmaya และ Centroamerico (H1) ที่มีการศึกษาวิจัยมากว่า 20 ปี ทั้งที่นิการากัว กับคอสตาริกาพบว่าให้ผลผลิตที่สูง ต้านทานต่อโรคและสภาพอากาศได้ดีกว่าสายพันธุ์คาร์ติมอร์ ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่สามที่มีการทดลองปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้ โดยแปลงทดลองที่ถูกเลือกคือเดียนเบียนฟู (Dien Bien) และเซินลา (Son La) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในช่วงเริ่มต้นโครงการนำต้นกล้าสายพันธุ์ F1 มาทดลองให้เกษตรกรปลูกและผสมกับสายพันธุ์ท้องถิ่นเพื่อทำการขยายพันธุ์รุ่นลูก และมีการบันทึกฟีโนไทป์ของลูกผสมแต่ละแบบเพื่อเทียบหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแปลงปลูกในระดับความสูงที่แตกต่างกัน


ในปี 2018 มีการแจกต้นกล้าให้เกษตรกรต้นแบบ 12 ราย นำไปทดลองปลูกรวม 4,800 ต้น โดยมีการประเมินการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชตลอดการปลูกจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยว แล้วนำเมล็ดกาแฟที่ได้ไปวิเคราะห์หาส่วนประกอบทางเคมีต่าง ๆ ในห้องทดลอง เพื่อแยกแยะคุณภาพทางกายภาพ เคมี รวมถึงรสชาติ


ผลการทดสอบในปี 2020 สรุปว่า กาแฟสายพันธุ์ไฮบริด F1 นี้ ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพกว่าคาร์ติมอร์ดั้งเดิมในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นจำนวนผลผลิตหรือคุณภาพของกาแฟ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต่างก็พอใจกับผลการทดลองที่ได้ โครงการ BREEDCAFS จึงวางแผนที่กระจายต้นกล้า F1 ไปยังเกษตรกรเพิ่มอีก 35,000 ต้น ภายในปี 2021 นี้ เมื่อโครงการสิ้นสุดลงหน่วยงานพันธมิตรของเวียดนามจะรับไม้ต่อในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรต่อเนื่องไปจนกว่าสายพันธุ์ F1 จะได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) ของเวียดนาม


การต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด

การคิดค้นกาแฟสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ดียังเป็นเพียงก้าวแรกของทางออกจากวิกฤติอาราบิกาในเวียดนามเท่านั้น เกษตรกรที่นี่ยังคงต้องเรียนรู้วิธีการปรับปรุงคุณภาพตลอดห่วงโซ่การผลผลิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟอาราบิกา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเทคนิคการเก็บผลเชอร์รี การควบคุมคุณภาพการตาก การอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ เพื่อให้คงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับสายพันธุ์กาแฟ ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่า กาแฟสายพันธ์ F1 จะเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ ระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อนนี้ ยังคงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต



โครงการวิจัยกาแฟสายพันธุ์ F1 ไม่เพียงแต่เป็นการปรับปรุงสายพันธุ์กาแฟเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังเพิ่มผลผลิตอาราบิกาทั้งด้านจำนวนและคุณภาพ เมื่อกาแฟมีคุณภาพดี ก็ขายได้ราคาสูง เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและที่สำคัญที่สุด กาแฟสายพันธุ์ F1 อาจเข้ามาช่วยยกระดับอาราบิกาของเวียดนามให้พ้นจากการถูกปรามาสาว่าเป็นกาแฟคุณภาพต่ำในสายตาชาวโลกเหมือนที่ผ่านมา


 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา

731 views0 comments
bottom of page