top of page

• Coffee in the pine forest • กาแฟอยู่ร่วมกับป่าสนได้หรือไม่



“พืชมีหลายชนิดฉันใด แหล่งปลูกที่เหมาะสมก็แตกต่างกันไปฉันนั้น” ประโยคนี้ใช้ได้กับหลักการทำเกษตรเลยก็ว่าได้ การจะปลูกพืชให้เจริญเติบโตนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นๆ ด้วย เช่นเดียวกับการปลูกกาแฟ นอกจากเรื่องความใส่ใจแล้ว การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกก็สำคัญเช่นกัน เราทราบกันดีว่ารสชาติจะดีหรือไม่ดีนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่เพาะปลูก ในปัจจุบันกระแสของการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ (Shade Grown Coffee) กำลังมาแรง เพราะเป็นการปลูกในแนวของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการปลูกแบบอินทรีย์โดยไร้สารเคมี ซึ่งใช้ความหลากหลายทางชีวภาพดูแลซึ่งกันและกัน จึงได้รสชาติกาแฟที่ดีอย่างเหลือเชื่อ การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ส่วนใหญ่จะปลูกควบคู่ไปกับพืชผลอื่นๆ เช่น พลับ ลูกไหน อาโวคาโด ท้อ เป็นต้น แต่ในอีกด้านของการปลูกแบบร่มเงา มีการนำกาแฟเข้าไปปลูกในป่าสน ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่ามันจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อกาแฟและสิ่งแวดล้อมอย่างไรหรือไม่



งานวิจัยจาก Padjadjaran University โดยความร่วมมือของคณะสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ ภาควิชามานุษยวิทยา และคณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ภาควิชาชีววิทยาและคณิตศาสตร์ประยุกต์ ได้ทำการศึกษาเรื่องการปลูกกาแฟและดูแลป่า กรณีศึกษา : การปลูกกาแฟในป่าของชาวปาลินตัง (Palintang) ที่ชวาตะวันตก (West Java) เมืองบันดุง (Bandung) ประเทศอินโดนีเซีย ในอดีตชาวบ้านทำเกษตรโดยการใช้ระบบการทำไร่หมุนเวียน หรือระบบตัดและเผา ซึ่งเกษตรกรจะถางพื้นที่โดยการตัดต้นไม้และวัชพืชแล้วเผา โดยปกติหลังจากการเก็บเกี่ยว พื้นที่ไร่เก่าจะถูกปล่อยทิ้งเพื่อให้พื้นที่ฟื้นความอุดมสมบูรณ์เพื่อรอเวลาหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมได้อีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าการทำไร่เกษตรแบบหมุนเวียนจะเป็นเกษตรกรรมแบบยั่งยืน หลังจากปล่อยไร่เก่าทิ้งไว้ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์ พืชพันธุ์ต่างๆ ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง แต่เนื่องจากชาวบ้านทิ้งไร่เก่าไม่นานพอที่จะให้ดินได้ฟื้นฟูตัวเอง ทำให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและมีการพังทลายของหน้าดิน

หลังจากนั้น State Forestry Corporation (Perhutani) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านป่าไม้ของประเทศอินโดนีเซีย มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่และมีประวัติอันยาวนานเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นในการบริหารจัดการ ทางบริษัทดำเนินธุรกิจเพื่อสาธารณประโยชน์ในรูปแบบของสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมกับชุมชน โดยยึดหลักการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และยังช่วยในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาในภาคป่าไม้ การพัฒนาวนเกษตร และการพัฒนาป่าชุมชนอีกด้วย ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูป่าไม้ชุมชน ในระบบวนเกษตรของการปลูกกาแฟในป่าสน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสนสองใบของบริษัทเองที่อยู่รอบๆ หมู่บ้านปาลินตัง


การปลูกกาแฟในป่าสนของ Perhutani ยังได้รับการพิจารณาว่ามีบทบาทสำคัญสำหรับอนุรักษ์ระบบนิเวศ เช่น ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งนก แมลงผสมเกสร และช่วยกักเก็บคาร์บอนอีกด้วย


โดยการนำกาแฟอาราบิกาเข้ามาปลูกในพื้นที่ป่าสน เพื่อทดแทนการทำไร่และการปลูกพืชผักในป่าของชาวบ้าน การปลูกกาแฟในปาลินตังส่วนใหญ่จะปลูกเป็นแถวใต้ต้นสน เกษตรกรจะทำการเคลียร์พื้นที่โดยการถางวัชพืช รวมถึงกิ่งไม้และใบไม้แห้งของต้นสนก่อนจะลงต้นกล้ากาแฟ โดยทั่วไปดินในป่าสนมักมีสภาพเป็นกรด ดังนั้นการเอาใบไม้และกิ่งไม้แห้งออกทำให้พื้นผิวดินใต้ต้นสนมีความเป็นกรดของดินลดลง จึงทำให้กาแฟสามารถเจริญเติบโตได้ดี หลังจากระยะเวลาการปลูก 4 ปี ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟได้ครั้งแรก และเกษตรกรเห็นว่าการปลูกกาแฟร่วมกับต้นสนถือเป็นสิ่งที่เหมาะสมและอาจเติบโตได้อย่างเพียงพอ รวมถึงได้ผลผลิตที่ดี ทำให้เกษตรกรปาลินตังอีกหลายคนนำกาแฟมาปลูกในพื้นที่ป่าสนของ Perhutani เมื่อชาวบ้านเห็นว่ากาแฟสามารถสร้างเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้นได้ จึงให้ความสำคัญกับการปลูกกาแฟแทนการปลูกพืชผักอย่างเดิม ดังนั้นชาวปาลินตังจึงมีความตระหนักในเรื่องของการปกป้องพื้นที่ป่า เพราะการปลูกกาแฟในพื้นที่ป่าสนให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่พวกเขา การศึกษาในครั้งนี้ของ Padjadjaran University สรุปได้ว่า ชาวปาลินตังตอบสนองเชิงบวกต่อการปลูกกาแฟในระบบวนเกษตรในพื้นที่ป่าสนสองใบของบริษัท Perhutani เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสำหรับการปลูกกาแฟ นอกจากนี้ระบบวนเกษตรของการปลูกกาแฟในป่าสนของ Perhutani ยังได้รับการพิจารณาว่ามีบทบาทสำคัญสำหรับอนุรักษ์ระบบนิเวศ เช่น ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งนก แมลงผสมเกสร และช่วยกักเก็บคาร์บอนอีกด้วย



สนที่ปลูกบนดอยม่อนล้านเป็นสนสามใบ ซึ่งเป็นไม้โตเร็วและเป็นไม้เบิกนำเพื่อปลูกในพื้นที่ป่าที่มันโล่ง


ในทางกลับกันพื้นที่ของป่าสนสามใบนั้นกลับไม่ใช่พื้นที่ที่กาแฟชอบเท่าไหร่นัก อย่างที่ดอยม่อนล้าน ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสนสามใบ อาจารย์แจ็ค กันยาศักดิ์ โบราณ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยม่อนล้าน ซึ่งโครงการได้มีการส่งเสริมเรื่องการสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยการส่งเสริมการปลูกกาแฟที่เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยนำกาแฟให้ชาวบ้านไปปลูกในแปลงที่ตนเองเคยทำอยู่ อาจารย์เล่าให้ฟังถึงวงจรชีวิตของต้นสนในพื้นที่ม่อนล้านว่า สนที่ปลูกบนดอยม่อนล้านเป็นสนสามใบ ซึ่งเป็นไม้โตเร็วและเป็นไม้เบิกนำเพื่อปลูกในพื้นที่ป่าที่มันโล่ง ความโตเร็วของต้นสนทำให้ป่าฟื้นไวมากขึ้น ถ้าเทียบกันในระยะเวลา 3 - 5 ปี ต้นสนจะโตเร็วกว่าพืชชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นต้นแอปเปิลป่า ต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือพืชท้องถิ่นอื่นๆ ดังนั้น ต้นสนจึงเป็นไม้เบิกนำในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำได้ดี พอมีอายุได้ประมาณ 20 - 30 ปี ทรงพุ่มจะใหญ่และมีร่มเงา ทำให้มีไม้ดั้งเดิมโตตามขึ้นมาทดแทนไม้เก่าที่ตายไป



ความโตเร็วของต้นสนยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟอีกด้วย เพราะใบสนจะหล่นมาทับยอดกาแฟ ทำให้โตช้าหรืออาจจะไม่โต


ในเรื่องความเหมาะสมในการนำกาแฟเข้าไปปลูกในป่าสนสามใบ ที่มีอยู่และกำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ปลูกกาแฟของไทย อาจารย์แจ็คใช้คำว่า “มันไม่เหมาะสม” ที่จะปลูกในป่าสน เพราะด้วยสภาพทางกายภาพของพื้นที่และของต้นสนด้วย เพราะจะทำให้ผลผลิตในเรื่องของคุณภาพไม่ดี เพราะในใบสนสามใบมีสาร Coniine (โคนิอีน), Pyrrolidine (ไพโรลิดีน) และ Anagyrine (แอนนาเจอร์ไรน์) ซึ่งต้นกาแฟจะ anti หรือต่อต้านสารสามตัวนี้ จึงทำให้ส่งผลเสียต่อต้นกาแฟและรสชาติได้โดยตรง เพราะมีกลิ่นที่เกิดจากสารเหล่านี้เข้ามาแทรกและทำให้รสชาติเปลี่ยนไป นอกจากนี้ความโตเร็วของต้นสนยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟอีกด้วย เพราะใบสนจะหล่นมาทับยอดกาแฟ ทำให้โตช้าหรืออาจจะไม่โต รวมถึงตรงบริเวณพื้นดินที่ต้นกาแฟอยู่จะมีใบสนทับมากก็จะเกิดเชื้อราได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อต้นกาแฟ รวมถึงแสงในป่าสนที่ค่อนข้างทึบ ก็จะมีผลต่อผลผลิตอีกด้วย เพราะแสงไม่สามารถส่องลงมาได้เพียงพอ จึงส่งผลต่อผลผลิตได้


การปลูกกาแฟในป่าสนจึงเป็นการตัดวงจรชีวิตป่าเก่า เพราะถ้าไปปลูกในป่าสน เราต้องเคลียร์หรือทำการถางพื้นที่ จึงจำเป็นที่จะต้องตัดต้นไม้เล็กๆ ออกให้หมดเพื่อเอากาแฟลงไปปลูก ถือเป็นการไปตัดวงจรต้นไม้เดิม หรือลูกไม้ที่จะขึ้นมาแทนต้นเก่า ปกติป่าสนที่ปลูกป่ากัน 5 - 7 ปี จะปล่อยไม่มีการถางแล้ว ไม้ตามธรรมชาติที่อยู่ในป่าก็จะขึ้นมา พออายุยาวไป 10 – 20 ปี ก็จะกลายเป็นไม้ชั้นกลาง เติบโตแซมต้นสนขึ้นไป และช่วยฟื้นฟูต้นน้ำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นตัวซับน้ำในตอนฝนตกอีกด้วย ดังนั้นป่าสนจึงเหมาะกับพืชธรรมชาติที่ขึ้นแซม เพราะมันสามารถอยู่กับต้นสนได้”


การปลูกกาแฟในป่าสนจึงเป็นการตัดวงจรชีวิตป่าเก่า

เพราะถ้าไปปลูกในป่าสน เราต้องเคลียร์หรือทำการถางพื้นที่

จึงจำเป็นที่จะต้องตัดต้นไม้เล็กๆ ออกให้หมด

เพื่อเอากาแฟลงไปปลูก ถือเป็นการไปตัดวงจรต้นไม้เดิม


ดังนั้นบทสรุปของการปลูกกาแฟในป่าสนจากทั้งสองกรณีข้างต้น แสดงให้เห็นว่า หากเป็นเรื่องของผลผลิต การจะปลูกกาแฟในป่าสนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม อาทิ สภาพของดินในป่าสน ชนิดของสน รวมถึงการจัดการดูแลสวนของเกษตรกรเอง อย่างเช่นชาวปาลินตังที่จะคอยเข้าไปเก็บใบไม้และกิ่งไม้แห้งของสนอยู่เป็นประจำ ซึ่งช่วยให้กรดในดินน้อยลงได้ ทำให้ต้นกาแฟเจริญเติบโตได้ดีใต้ร่มเงาของสนสองใบ แต่ในด้านของสนสามใบกลับมีสารที่เป็นพิษต่อต้นกาแฟ ทำให้ส่งผลต่อรสชาติและต้นกาแฟโดยตรง อย่างเช่นในกรณีของเกษตรกรที่ดอยม่อนล้าน จึงกล่าวได้ถึงความไม่เหมาะสมในการปลูกกาแฟในพื้นที่ของสนสามใบได้ ส่วนในเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้นก็จะเห็นได้ว่า การจะนำกาแฟเข้าไปปลูกในพื้นที่ป่าสนจำเป็นที่จะต้องเคลียร์พื้นที่ โดยการถางต้นไม้เล็กและวัชพืชในบริเวณนั้นออกเสียก่อน ทำให้ไปตัดวงจรต้นไม้เดิมอย่างที่อาจารย์แจ็คกล่าว ซึ่งชาวปาลินตังก็ทำการถางพื้นที่เช่นเดียวกัน แต่พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่โครงการของบริษัท Perhutani แต่ในทางกลับกันหากนำกาแฟเข้าไปปลูกในพื้นที่ป่าสนที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติและทำการถางพื้นที่ ก็จะเป็นการไปตัดวงจรป่าเดิม ฉะนั้นการนำกาแฟเข้าไปปลูกในป่าสนจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและกาแฟหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่โดยรอบ และอย่าลืมว่าป่าสนนั้น สามารถช่วยฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับคืนมาสมบูรณ์ได้อีกครั้ง

109 views0 comments
bottom of page